5 ขั้นตอนการเตรียมตัวไป "เรียนซัมเมอร์ต่างประเทศ"
"เพราะการเรียนรู้นั้น...ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน" จากคำกล่าวนี้เราปฎิเสธไม่ได้เลยว่า การเรียนรู้ที่ได้ผลดีที่สุดนั่นก็คือการได้ปฏิบัติจริง สำหรับน้องๆเยาวชนแล้วการเลือก เรียนซัมเมอร์โดยการเดินทางไปศึกษายังต่างประเทศ จึงเป็นตัวเลือกหนึ่งของการใช้เวลาช่วงปิดเทอมให้มีประโยชน์ ซึ่งนอกจากจะช่วยในการพัฒนาทักษะด้านภาษาแล้ว น้องๆยังได้จะเรียนรู้วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ตลอดจนวัฒนธรรมของประเทศที่เราเลือกไปเรียนอีกด้วย
แน่นอนว่า ภาษาที่นิยมเรียนกันมากที่สุด ก็หนีไม่พ้น "ภาษาอังกฤษ" เนื่องจากเป็นภาษาเดียวที่จะทำให้น้องๆสามารถสื่อสารกับคนทั่วโลกได้ ถือเป็นภาษาสากล โดยหากน้องๆเลือกเรียนภาษาในประเทศที่ใช้เจ้าของภาษานั้นๆ หรือใช้ภาษานั้นเป็นหลัก จึงน่าที่จะเป็นการเรียนรู้ที่ได้ผลดีและรวดเร็ววิธีหนึ่ง
ดังนั้นทริป เรียนซัมเมอร์ต่างประเทศ จึงไม่ใช่เพียงแค่การเรียนรู้นอกชั้นเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นทริปการท่องเที่ยวที่จะเปิดโลกทัศน์ของเราให้กว้างขึ้นอีกด้วย หากน้องๆ คนไหนสนใจ และมีทุนทรัพย์ในการเดินทางไปท่องเที่ยวพร้อมเรียนภาษาในช่วงปิดเทอมยาวๆ ต้อนรับ AEC ลองทำตาม 5 ขั้นตอนเหล่านี้ รับรองได้ว่าง่ายต่อความเข้าใจและสะดวกสบายต่อการเตรียมตัวอย่างแน่นอน
ขั้นตอนที่ 1 : กำหนดเป้าหมาย และระยะเวลา
- ระยะเวลาในการไปเรียน
ระยะเวลาในการไปเรียนภาษาเป็นปัจจัยแรกที่ต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะวางแผนไปเอง หรือไปกับเอเจนซี่ โดยแต่ละเอเจนซี่จะมีการจัดคอร์สในการไปเรียนซัมเมอร์ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งส่วนมากในระดับมหาวิทยาลัยจะลงเรียนซัมเมอร์คอร์สตั้งแต่ระยะเวลา 1 เดือน ขึ้นไปจนถึง 6 เดือนหรือมากกว่านั้น เราควรกำหนดระยะเวลาไปเรียนของเราให้ชัดเจน เพราะมีผลอย่างยิ่งต่อการเลือกคอร์สเรียน การใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศนั้นๆ หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
- เลือกประเทศที่จะไปเรียนซัมเมอร์
หลายคนเมื่อคิดจะไปเรียนภาษาที่ต่างประเทศก็คงจะมีคำถามที่ตามมาว่า “แล้วจะไปประเทศไหนดี?” เพราะแต่ละประเทศจะมีความน่าสนใจที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างประเทศยอดฮิตที่คนไทยนิยมไปเรียนภาษาช่วงซัมเมอร์ 4 ประเทศเจ้าของภาษา ได้แก่ ประเทศอังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, นิวซีแลนด์ และแคนนาดา
- ตั้งงบประมาณ
งบประมาณเป็นตัวแปรสำคัญมากอย่างหนึ่งโดยค่าใช้จ่ายต่างๆ จะแปรผันไปตามระยะเวลา และประเทศที่เลือกไป หากคำนวณค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ก็ต้องมีงบประมาณ 1 แสนบาทเป็นต้นไป หรือถ้างบไม่เยอะก็แนะนำให้ไปประเทศที่ใกล้ๆ บ้านเราหน่อยอย่าง ประเทศอินเดีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ราคา 1 คอร์ส ต่อหนึ่งเดือนจะประมาณ 3 หมื่นบาทขึ้นไป
2. หาข้อมูลของสถาบัน/เอเจนซี่
ขั้นตอนต่อไปหลังจากที่เรากำหนดเป้าหมายในการไปซัมเมอร์แล้ว ยังมีอีก 2 ทางเลือกให้เราดำเนินการต่อไปนั่นคือ การตัดสินใจว่าจะเดินทางไปศึกษาเอง หรือจะติดต่อโปรแกรมซัมเมอร์จากเอเจนซี่ โดยส่วนมากนิยมสมัครผ่านเอเจนซี่ในประเทศไทย เพราะจะช่วยดูแลทุกอย่าง ทั้งหาคอร์สจัดโปรแกรม หาที่พักหรือต้องการอยู่กับโฮสแฟมิลี่ ทางเอเจนซี่ก็สามารถให้คำแนะนำกับเราได้เป็นอย่างดี โดยเราสามารถเซิร์ชข้อมูลของเอเจนซี่ต่างๆ ทางกูเกิ้ลได้เลย
หากใครอยากลองจัดการติดต่อเองทั้งหมด ก็สามารถเซิร์ซหาจากกูเกิ้ลได้อีกเช่นกัน โดยเซิร์ทหาคำว่า Conversation Course in…(ใส่ชื่อประเทศที่เราอยากไป) หรือ TOEFL Course in… เป็นต้น แต่วิธีนี้เราอาจจะต้องยุ่งยากในการศึกษาข้อมูลอยู่สักหน่อยรวมถึงค่าใช้จ่ายที่อาจจะกำหนดไม่ได้ตามที่เราตั้งเป้าไว้ แต่ส่วนใหญ่นักศึกษาที่ดำเนินการติดต่อกับสถานที่เรียนเองก็จะส่งเรื่องกลับมาให้ติดต่อกับทางเอเจนซี่ในประเทศไทยต่ออีกที เพราะจะต้องมีการดำเนินการเรื่องวีซ่า และหลักฐานอื่นๆ ตามมา
3. เลือกสถาบันเลือกโปรแกรม
- เลือกสถาบัน
ควรเลือกสถาบันหรือบริษัทที่น่าเชื่อถือและมีประสบการณ์ โดยสามารถดูได้จากเวบไซต์ของทางบริษัท การโทรสอบถามและการให้ข้อมูลว่าน่าเชื่อถือ ครบถ้วนหรือไม่ และสิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การเดินทางเข้าไปพบที่บริษัทฯ เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งดีกว่าการพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์ เพราะทางเอเจนซี่จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำปรึกษา สอบถามเบื้องต้นเกี่ยวกับความต้องการ หรือเป้าหมายต่างๆ ที่เราได้แพลนไว้ในตอนแรก ต้องการไปซัมเมอร์คอร์สที่เมืองไหน ประเทศอะไร ระยะเวลาเท่าไหร่ และที่สำคัญในเรื่องของงบประมาณ ทางเอเจนซี่จะช่วยคำนวนงบประมาณที่มีอยู่ ว่าเราสามารถลงเรียนคอร์สที่ประเทศนั้นๆ ได้หรือไม่ รวมถึงเลือกคอร์สที่เหมาะสมกับงบประมาณของเราได้อย่างถูกต้อง
หลังจากที่เราค้นหาข้อมูลของเอเจนซี่ต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ลองนำหลายๆ ที่มาเปรียบเทียบข้อมูล และราคาที่เราได้ตั้งงบประมาณไว้ในตอนแรก รวมไปถึงเช็คหลักสูตร และโปรแกรมต่างๆ ที่เราจะได้รับจากเอเจนซี่นั้นๆ
- เลือกโปรแกรม
เราสามารถสอบถามข้อมูลจากเอเจนซี่ในเรื่องของโปรแกรมได้ แต่ก่อนอื่นเราต้องตัดสินใจก่อนว่าจะเลือกไปซัมเมอร์คอร์สเป็นแบบกลุ่ม หรือ ไปเดี่ยว เพราะจะสามารถบอกให้ทางเอเจนซี่แนะนำหรือจัดคอร์สให้เราได้เลย โดยจะมีข้อแตกต่างกันคือ ถ้าไปแบบกลุ่มจะมีโปรแกรมการเรียนและการทำกิจกรรมที่ชัดเจน รวมถึงมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลตลอดระยะเวลาที่ไปศึกษา จัดหาที่พัก แต่ถ้าเรามีความประสงค์จะไปเดี่ยว เอเจนซี่ก็จะทำหน้าที่ในการหาที่เรียนตามเมืองต่างๆ ตามที่เราต้องการ แต่จะไม่มีโปรแกรมการท่องเที่ยว นักศึกษาที่ไปจะต้องช่วยเหลือตัวเอง ท่องเที่ยวเอง ใช้ชีวิตเอง โดยการไปเดี่ยวส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาที่เคยไปแบบกลุ่มมาแล้วนั่นเอง
4. เตรียมเอกสาร
หลังจากคุยและตกลงกับทางเอเจนซี่เรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องกรอกใบสมัครเพื่อส่งเรื่องไปทางสถาบันการศึกษานั้นๆ ที่เหลือก็จะเป็นเอกสารที่เราจะต้องเตรียม เช่น
4.1 ใบสมัครวีซ่านักเรียน สำหรับไปเรียนภาษาในคอร์สสั้นๆ ดังนี้
Student Visitor - เรียนภาษาไม่เกินหกเดือน
Extended Student Visitor - สำหรับนักเรียนที่จะไปเรียนภาษาเกินกว่า 6 เดือนขึ้นไป
รูปถ่าย ตามมาตรฐานของทางสถานฑูต
4.2 หนังสือเดินทาง (Passport)
4.3 ใบรับรองการสำเร็จการศึกษาจากสถาบันในประเทศไทย เช่น Transcript หรือรับรองว่ามีสถานภาพเป็นนักเรียนนักศึกษาอยู่เป็นภาษาอังกฤษ
4.4 หนังสือรับรองสถานภาพทางการเงินของผู้ปกครอง (Financial Undertaking for a Student)
ในกรณีที่ดำเนินการไม่ผ่านจะมีอยู่ 2 กรณีด้วยกันคือ
- ติดในเรื่องของสถานภาพนักศึกษา ตัวอย่างเช่น นักศึกษาปี 1 ได้ลาออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน ในขณะที่มาสมัครลงคอร์สซัมเมอร์ ซึ่งทางเอเจนซี่จะช่วยในเรื่องนี้โดยการเขียนจดหมายไปชี้แจงกับทางสถาบันว่านักศึกษากำลังเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยแห่งใหม่ในปีหน้า เป็นต้น
- หนังสือรับรองทางการเงินของผู้ปกครอง หรือสเตจเม้นท์ไม่ผ่าน เพราะระยะเวลาที่ลงเรียนจะมีผลกับสเตจเม้นท์ของผู้ปกครอง อย่างเช่น การไปเรียนภาษายังต่างประเทศในระยะเวลา 1 เดือน ผู้ปกครองจะต้องมีเงินออมทรัพย์ในบัญชีอย่างน้อย 3 แสนบาทขึ้นไป และหากไปศึกษานานกว่านั้น จำนวนเงินในบัญชีของผู้ปกครองจะต้องมากขึ้นตามไปด้วย
5. เตรียมตัวก่อนเดินทาง
เมื่อขั้นตอนการดำเนินการผ่านทุกอย่าง รวมถึงชำระค่าใช้จ่ายเรียนร้อยแล้ว สิ่งสุดท้ายที่เราต้องเตรียมคือ เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม เตรียมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้เหมาะกับสภาพอากาศของประเทศและเมืองที่เราจะไปอยู่ เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ การ์ดโทรศัพท์ เบอร์ติดต่อกลับประเทศไทย, อาหารและยาที่จำเป็น (ต้องมีใบกำกับยาจากแพทย์ในกรณีที่เป็นยาประจำตัว), ตรวจเช็คสุขภาพฟันก่อนไปให้เรียบร้อยเพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาฟันที่ต่างประเทศค่อนข้างแพง สุดท้ายเปิดใจให้กว้างเตรียมรับกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่กำลังจะผ่านเข้ามา และตั้งใจศึกษาเล่าเรียนให้ประสบผลสำเร็จ
ขอขอบคุณบทความดีๆจาก : Astv ผู้จัดการออนไลน์